โจเซฟ วเรซินสกี้ (1917-1988)

บาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ในย่านคนยากจน เมืองอองเฌส์ ประเทศฝรั่งเศส บิดาอพยพมาจากประเทศโปแลนด์ ส่วนมารดาเป็น ชาวสเปนโดยกำเนิด ท่านเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะยากจนขัดสน

ท่านเริ่มทำงานเพื่อเลี้ยงชีพในร้านทำขนมตั้งแต่อายุ 13 ปี จนอายุ 19 ปี จึงได้ออกบวชเป็นพระ และได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นพระประจำโบสถ์เมืองซัวซง (Soissons) ในปี 1946

ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นบาทหลวงเจ้าอาวาสที่เมืองแตรงิเย่ (Tergnier) ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ในช่วงเวลา 3 ปีที่เมืองนี้ ท่านใช้ชีวิตคลุกคลีกับครอบครัวผู้ใช้แรงงานที่มีฐานะยากจนมาก เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจสภาพปัญหาความยากไร้ลำเค็ญที่ครอบครัวเหล่านี้ต้องเผชิญ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสที่เมืองดุยแซล (Dhuizel) ในปี 1950 (2493) ท่านจึงริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเยาวชน ศึกษาปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนยากจน

ปี 1956 (2499) ท่านได้รับการทาบทามจากเจ้าคณะเขตให้ไปช่วยครอบครัวยากจนที่ชุมชนแออัดย่านนัวซีเลอกรองด์ (Noisy-le-Grand) ใกล้เมืองปารีส สภาพความแร้นเค้นทุกข์ยากของผู้คนในชุมชนแออัดที่ได้พบเห็น ทำให้บาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ตัดสินใจทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และชีวิตทั้งชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้ดำเนินการจัดสร้างห้องสมุด โรงเรียนอนุบาลเด็กเล็กและโบสถ์ แทนการแจกเงิน อาหาร และเสื้อผ้า ซึ่งท่านเห็นว่านอกจากจะเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย เนื่องจากไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาจิตสำนึกพึ่งตัวเอง

ณ สลัมแห่งนี้ เยาวชนคนหนุ่มสาวผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรมจากหลายประเทศในยุโรปได้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวยากจนในชุมชน เพื่อเรียนรู้ความทุกข์ยาก และศึกษารากเหง้าของปัญหา รวมทั้งแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด หลักการดังกล่าวทำให้รูปแบบ และวิธีการแก้ปัญหาความยากจนเปลี่ยนไป มีผลทำให้ครอบครัวยากจนรู้สึกมั่นคงในทุกด้านไม่ว่าจะในชีวิตครอบครัว อาชีพ การศึกษา และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมด้วยเช่นกัน

ณ ที่นี้เช่นกัน บาทหลวงโจเซฟได้ร่วมกับครอบครัวในชุมชนก่อตั้ง “องค์การให้ความช่วยเหลือเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากทั้งมวลโลกที่สี่“ (Mouvement ATD Quart Monde) ในปี 1957 (2500) และสามปีต่อมาได้พัฒนาเป็นองค์การนานาชาติ เอ.ที.ดี. โลกที่สี่ (Mouvement International ATD Quart Monde) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ท่านได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความยากไร้ (Institut de Recherche sur la grande pauvreté) เพื่อศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านนี้ขึ้นด้วย นับเป็นสถาบันที่นักวิจัยจากทุกสาขาวิชาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ตลอดระยะเวลา 30 ปี บาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ ไม่เคยย่อท้อที่จะรวบรวมผู้คนรอบตัวท่าน และบรรดาครอบครัวจาก ชุมชนแออัด ให้ผนึกกำลังยืนหยัดเคียงข้างคนยากไร้ที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าคนที่ท่านพบจะเป็นคนจน หรือคนมีฐานะหรือเป็นผู้มีอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านจะบอกพวกเขาด้วยคำพูดแบบเดียวกันว่า “เราจะทนต่อความยากจนต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ฉะนั้นจงมาร่วมมือกันขจัดความยากไร้ให้หมดสิ้นไป” ท่าน มีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าทุกคนที่ท่านที่ได้มีโอกาสพบ สามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์การนานาชาติ เอ.ที.ดี. โลกที่สี่ เป็นองค์กรที่เปิดรับผู้ร่วมอุดมการณ์ขจัดความยากไร้ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และ วัฒนธรรม

ในปี 1979 (2522) บาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ได้รับแต่งตั้งให้ป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ และสังคม รัฐสภาฝรั่งเศส อันนับเป็นก้าวสำคัญเมื่อผู้ยากไร้ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่กำหนดนโยบายของประเทศ

ในปี 1987 (2530) หนึ่งปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านได้ฝากผลงานที่สำคัญแก่ชาวโลกผู้มีใจรักความเป็นธรรม และปรารถนาจะสร้างสังคมที่สงบสุขและเสมอภาคไว้ 2 เรื่อง คือ

เรื่องแรก คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ และสังคม รัฐสภาฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองรายงานเรื่อง “ความยากไร้กับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม” ที่ท่านเสนอต่อรัฐสภา นอกจากจะเป็นที่ยอมรับกันว่า รายงานเรื่องนี้เป็นการเสนอนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการขจัดความยากไร้ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งแล้ว ยังเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐในสหภาพยุโรปนำไปใช้กำหนดแผนปฏิบัติงานอีกด้วย รายงานฉบับนี้ยังเป็นที่ยอมรับในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน

เรื่องที่สองคือ เมื่อบาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ ได้ทำพิธีประดับแผ่นศิลาเพื่อสดุดีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ยาก ในวันที่ 17 ตุลาคม 1987 (2530) บนลานสิทธิและเสรีภาพแห่งมนุษยชน (Trocadéro) กรุงปารีส อันเป็นสถานที่มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ผู้คนจากทั่วโลกพร้อมใจกันมาร่วมในพิธีนี้กว่าหนึ่งแสนคน ข้อความตอนหนึ่งของคำจารึกบนศิลาคือ

“ที่ใดก็ตามที่มนุษย์ทั้งชายและหญิงต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ

ที่นั่นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

เป็นภารกิจอันประเสริฐของพวกเราทุกคน”

บาทหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1988 (2531) สิริรวมอายุได้ 71 ปี ปัจจุบันยังมีทายาทจากทั่วทุกมุมโลก จากทุกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ที่ล้วนมุ่งมั่นในการสืบสานเจตนารมณ์ของท่านอย่างต่อเนื่อง

ในปี 1992 (2535) สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ (International Day for the Eradication of Poverty)

0 comments Leave a comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.